วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำไมซูจีถึงปิดปากเงียบเรื่องโรฮิงญา

ทำไมซูจีถึงปิดปากเงียบเรื่องโรฮิงญา
     เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม เชื้อสายโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
หลังจากที่นานาชาติเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดรัฐบาลเมียนมาร์จึงปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลาย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
     ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการอพยพของชาวโรฮิงญาอีกหลายหมื่นคน ที่พยายามพายเรือไปยังประเทศบังกลาเทศ แต่กลับถูกรัฐบาลบังกลาเทศปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่ง และส่งตัวกลับมายังเมียนมาร์ จนทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าว ต้องทนแบกรับกับภาวะไร้สัญชาติ และพบกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งหนึ่งที่ทุกคนอาจหลงลืมไปก็คือ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาร์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาร์ รวมถึงเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้หายไปจากเวทีการเมืองของเมียนมาร์ และที่สำคัญ เธอยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่แต่อย่างใด แต่ท่าทีดังกล่าวของนางซูจี ก็ไม่ได้ทำให้นักวิเคราะห์ทั้งหลายแปลกใจมากนัก เนื่องจากประเด็นปัญหาในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งหากว่าเธอออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อพันธมิตรทางการเมืองของเธอ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต่อต้านชาวโรฮิงญา อีกทั้ง ความคิดเห็นของชาวเมียนมาร์ทั้งหลาย ก็ค่อนข้างเป็นไปในทางลบ เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เนื่องจากพวกเขามองว่า ชาวโรฮิงญาได้เข้ามาสร้างความวุ่นวาย และแย่งอาชีพ รวมถึงที่ทำกินของชาวเมียนมาร์ โดยเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ ได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของอังกฤษ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกแปลกใจที่นางซูจี ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น หรือต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้แก่ชาวโรฮิงญา ซึ่งในตอนแรก เขาคาดหวังว่า นางซูจีจะแสดงความเป็นผู้นำ ที่มีจุดยืนที่เด่นชัดทางด้านมนุษยธรรม และศีลธรรมมากกว่านี้ เพราะการออกมาปกป้องชาวโรฮิงญา ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรลงมือทำอย่างเร่งด่วน
    นอกจากนี้ นางซูจียังได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเมียนมาร์ ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการในการสร้างหลักนิติธรรม ความสงบ และความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งบทบาทดังกล่าว อาจหมายรวมกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ และความขัดแย้งในรัฐยะไข่ด้วย แต่ดูเหมือนว่า เธอจะยังไม่ได้ทำหน้าที่ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาอย่างสมบูรญ์แบบเท่าไหร่นัก ทางด้านของผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาร์ จาก London School of Economics ก็แสดงความเห็นว่า การที่นางซูจีจะออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไม่ว่าเธอจะแสดงความคิดเห็นในทิศทางใดก็ตาม เธอก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำดังกล่าว เพราะตอนนี้ เธอไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาร์อีกต่อไป แต่เธอกลายเป็นนักการเมือง ที่ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรค และยังต้องคำนึงถึงผลของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
    ทั้งนี้ ปัญหาของกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิม เชื้อสายโรฮิงญา เป็นปัญหายืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาร์ปฏิเสธที่จะให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญากว่า 800,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามพรมแดนของเมียนมาร์ โดยก่อนหน้านี้ สหประชาชาติได้ประกาศว่า ปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์นั้น ถือเป็นหนึ่งในปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในโลก และยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ รัฐบาลเมียนมาร์ยังพยายามที่จะผลักดันให้กลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ ไปยังประเทศที่สาม พร้อมกับทำการจับกุม และกวาดล้างชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่ก็ยังเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงนางอองซาน ซูจีด้วยเช่นเดียวกัน

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ ผมชื่อชาญชัย ผมสนใจเรื่องโรฮิงญาและได้เขียนบทความ “เข้าใจโรฮิงญา ตอน: บังคลาเทศไม่ต้อนรับโรฮิงญา” ที่ http://www.chanchaivision.com/2013/02/rohingya130205.html
    หวังว่าบทความของผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนท่าน

    ตอบลบ