วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลึกแต่ไม่ลับ...เปิดรายงานหน่วยมั่นคงกรณีโรฮิงญา!

ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง "ชาวโรฮิงญา" ยังคงรุมเร้ารัฐบาลไทย ล่าสุดมีกระแสเรียกร้องให้ตั้ง "ศูนย์อพยพ" เพื่อรองรับชาวโรฮิงญาที่ทะลักเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวนมาก แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวจากรัฐบาล ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง 

ขณะที่คนไทยเองและประชาคมโลกต่างให้ความสนใจกับปัญหาโรฮิงญา ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลที่จะจัดการกับปัญหาอันยุ่งยากและกระทบต่อความมั่นคง นี้ 

"สถาบันอิศรา" เจาะข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญา เป็นเอกสารที่ฝ่ายความมั่นคงไทยรายงานถึงรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสลับซับซ้อนของปัญหา มุมมองของฝ่ายความมั่นคงไทยที่มีต่อชนกลุ่มน้อยชาวพม่ากลุ่มนี้ รวมถึงวิธีการจัดการปัญหาบนพื้นฐานของการป้องกันภัยคุกคามด้านความมั่นคง และบทสรุปที่ว่า "ชาวโรฮิงญา" ไม่น่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้! 

สภาพปัญหา ณ ปัจจุบัน 

ปัญหาหลักของโรฮิงญา คือการถูกปฏิเสธไม่ให้เป็นประชากรของพม่าหรือบังกลาเทศ และมีแนวโน้มว่าหากไม่มีการวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าไทยของ ชาวโรฮิงญาอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังแล้ว ในปี 2552 จะต้องเกิดการลักลอบเข้าไทยของคนกลุ่มนี้อีกในลักษณะ "ทวีคูณ" อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม 

วิธีการลักลอบเข้าไทย 

กลุ่ม โรฮิงญาจะรวมตัวกันจัดหาเรือประมงขนาดเล็กที่อยู่ในสภาพเก่า เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทาง โดยอาศัยแผนที่และเข็มทิศมุ่งหน้ามายังเกาะนิโคบา แล้วจึงพยายามเข้าไทยด้าน จ.ระนอง ซึ่งจะใช้ห้วงเวลาเดินทางในทะเลประมาณ 15 วัน ระยะทางประมาณ 780 ไมล์ทะเล หรือ 1,400 กิโลเมตร 

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเนื่องจากมีกลุ่มโรฮิงญาที่ต้องการอพยพและย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำ มากขึ้นในลักษณะทวีคูณ ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำพากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไทยและมาเลเซีย โดยจะมีการเรียกเก็บเงินคนละ 20,000-50,000 จั๊ต (ประมาณ 1,000 บาท) เพื่อจัดซื้อเรือพร้อมอาหารและน้ำดื่มในระหว่างการเดินทาง ส่วนเครือข่ายขบวนการจะได้รับผลประโยชน์จากการขายชาวโรฮิงญาให้กับนายจ้าง ปลายทางในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยจะมีราคาระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคน อายุระหว่าง 12-25 ปี ลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายการค้ามนุษย์ 

เส้นทางการเดินทางที่สำคัญ

การเดินทางของชาวโรฮิงญามีอยู่ 2 ลักษณะ กล่าวคือ 

1.จากชายแดนจังหวัดค๊อกซีสบาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ อ้อมหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปทางเกาะนิโคบา ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ส่วนมากเป็นเรือขนาดใหญ่ และเดินทางต่อไปในทิศตะวันออก เข้าน่านน้ำไทยที่ จ.ระนอง และพังงา 

2.จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิตต่วย รัฐอาระกัน ของพม่า ผ่านน่านน้ำพม่า ภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี เข้าเขตน่านน้ำไทยด้าน จ.ระนอง หากทหารเรือพม่าตรวจพบจะได้รับความช่วยเหลืออาหารและน้ำดื่ม และชี้เส้นทางเดินทางโดยไม่ยอมให้ขึ้นฝั่งพม่า 

สำหรับเป้าหมายหลักที่แท้จริงซึ่งกลุ่มโรฮิงญาต้องการเดินทางไปคือประเทศที่ สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากรายได้ดี มีงานมาก ประกอบกับมีแนวคิดว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ ประจำมาเลเซีย มีความอ่อนตัวในการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญา เนื่องจากเป็นมุสลิมเหมือนกัน จึงน่าจะผลักดันให้การรับรองสถานภาพ "ผู้ลี้ภัย" ง่ายกว่าประเทศไทย ประกอบกับประเทศในแถบตะวันออกกลางเองก็มีความนิยมใช้แรงงานซึ่งเป็นมุสลิม มากกว่า ทำให้นายหน้าค้าแรงงานซึ่งอยู่ในมาเลเซีย ทั้งที่อยู่ในขบวนการค้าแรงงานหรือในรูปแบบของสมาคมของกลุ่มประเทศอาหรับมี การบริจาคเงิน และดูแลให้ความช่วยเหลือที่ดีกับชาวโรฮิงญามากกว่าแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่น 

การดำเนินการของฝ่ายไทย

1.ห้วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ห้วงปี 2549-2551 การดำเนินการของไทยจะเป็นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะคือ 

- กรณีชาวโรฮิงญาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้กำลังประชาชน นำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ส่งมอบให้ ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่) ดำเนินคดี และผลักดันตามมติคณะรัฐมนตรี 

- กรณีสามารถจับกุมได้ขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้วิธีการผลักดันออกไป 

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ให้ข้อสรุปตรงกัน โดยยืนยันว่าการดำเนินการสกัดกั้นที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้สาเหตุเนื่องจาก 

- ไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพอย่างแท้จริง 

- ทางการพม่าไม่ยอมรับและไม่ได้ช่วยสกัดกั้นในทะเลอาณาเขตของตน ซ้ำบางครั้งยังได้มอบอาหารและชี้เส้นทางในการเดินทางเข้าไทยให้แก่ชาวโรฮิ งญาระหว่างที่ประสบเหตุในทะเลด้วย 

- เมื่อผลักดันออกไปแล้ว กลุ่มดังกล่าวจะสามารถลักลอบกลับเข้าไทยได้อีก เพราะมีขบวนการค้ามนุษย์ที่สามารถนำพาโรฮิงญากลับเข้าเขตไทย และพาเข้าพื้นที่ตอนใน 

- ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยสามารถจัดตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า "BRAT" หรือ Burmese Rohingya Association in Thailand ซึ่งสมาคมดังกล่าวได้พยายามผลักดันให้มีการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญาให้ได้รับ สถานะเช่นเดียวกับ "ผู้หนีภัยการสู้รบชาวพม่า" ได้รับ 

2.จากความล้มเหลวข้างต้น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงได้ปรับแผนจากเดิม กำหนดให้กองทัพเรือรับผิดชอบลาดตระเวนในน่านน้ำเพื่อสกัดกั้นการขึ้นฝั่ง จ.ระนอง ควบคุม กำกับดูแล และประสานตำรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านคดี และกระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต้นปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีผลคืบหน้าในการสกัดกั้นและแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญา จึงได้มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งในการนี้ กอ.รมน.ได้ดำเนินการโดยจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า "ศูนย์ประสานงานปฏิบัติการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา" หรือ ศปป.ร.ญ. เพื่อรับผิดชอบอย่างเป็นเอกภาพ 

แนวทางการแก้ไขปัญหาในภาพรวม

1.โดยสาเหตุที่ทางการไทยได้เคยนำปัญหาชาวโรฮิงญาหารือกับทางการพม่า ผ่านกลไกรัฐ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย-พม่า หรือ อาร์บีซี เพื่อให้รับกลับกลุ่มโรฮิงญาภายหลังที่ทางการไทยจับกุมได้ และต้องการผลักดันกลับ แต่ทางการพม่าปฏิเสธ พร้อมระบุว่ากลุ่มคนเหล่านั้นไม่ใช่ประชากรของพม่า 

ดังนั้นหนทางที่ควรปฏิบัติคือ ควรจะมีการคัดแยกและสืบสวนให้ได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมาจากภูมิลำเนาใด ด้วยวิธีการใด จึงจะทำให้ทางการไทยสามารถเจรจากับประเทศที่ต้องรับประชากรของตนกลับภูมิ ลำเนาได้ อาทิ พม่า หรือบังกลาเทศ และทำให้ประเทศดังกล่าวไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ 

2.เพื่อให้เกิดการยอมรับจากประเทศต้นปัญหาและเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูก ต้องแก่ประชาคมนานาชาติ รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบควรยืนยันบนหลักการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็น "ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" ที่มิใช่ "ผู้หนีภัยจากการสู้รบ" (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็น "ผู้อพยพลี้ภัย" (Refugee) ตามที่สื่อประชาคมนานาชาติระบุ 

ดังนั้นทางการไทยจึงมีความชอบธรรมในการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายของไทยต่อชาว โรฮิงญาเช่นเดียวกับผู้หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งส่งกลับตามเส้นทางที่กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางเข้ามา ในการนี้ทางการไทยต้องมีการประกาศความชัดเจนของนโยบาย เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า ปัญหาชาวโรฮิงญามิใช่เป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งต้องรับภาระ แต่เป็นปัญหาที่ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา 

3.ที่ผ่านมาจากผลการสอบสวนชาวโรฮิงญา และการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของชาวโรฮิงญา ปัจจัยหลักคือเกิดจาก "ขบวนการนำพา" กลุ่มใหญ่ที่ประกอบไปด้วยชาวบังกลาเทศ ชาวพม่ามุสลิมในรัฐอาระกัน จ.เกาะสอง ภาคตะนาวศรี และชาวมุสลิมในพื้นที่ จ.ระนอง และจังหวัดใกล้เคียง 

หนทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลโดยทันทีและอยู่ภายใต้อำนาจของไทยคือการทำลาย "ขบวนการนำพา" ใน ไทยอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ของไทยบางรายเกี่ยวข้องกับขบวนการดัง กล่าว ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยกับการทำงานของขบวนการด้วย 

4.ต่อกรณีข้อห่วงใยว่า กลุ่มคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายหรือถูกแสวงประโยชน์จากกลุ่ม ก่อการร้ายเพื่อให้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตว่า กลุ่มโรฮิงญาที่จะถูกนำไปใช้ในกิจการดังกล่าว มีรูปแบบการปฏิบัติว่า จะต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการก่อการร้ายอย่างดี 

ดังนั้นการเดินทางโดยเรือเข้าประเทศไทยค่อนข้างไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการ สูญเสียบุคลาการที่ผ่านการเพาะบ่มมาแล้ว จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าไทย ทั้งเพื่ออำพรางตนอยู่หางานในไทย และใช้ไทยเป็นฐานเดินทางต่อไปในประเทศมุสลิมอื่นเพื่อกิจการการก่อการร้าย น่าจะไม่ใช้วิธีการลักลอบเข้าเมืองด้วยวิธีดังกล่าว 

5.หากทางการไทยไม่เร่งวางมาตรการและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความจริง จัง มีแนวโน้มว่าในปี 2552 จำนวนชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมืองทางทะเลจะมีจำนวนมากยิ่งขึ้น ทั้งเนื่องจากปัจจัยประชากรล้นประเทศของบังกลาเทศ และกรณีทางการพม่าเริ่มโยกย้ายชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันออกจากแนววางท่อก๊าซใน รัฐอาระกัน 

ทั้งนี้ สถิติการจับกุมชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2549 มีจำนวนชาวโรฮิงญาที่ถูกจับจำนวน 1,225 คน ปี 2550 จำนวน 2,763 คน และปี 2551 มีจำนวนเพิ่มถึง 5,299 คน 


ข้อมูลจาก โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา 

อนาถ‘โรฮิงญา-ขแมร์กรอม’ยังไร้แผ่นดิน แนะอาเซียนจริงจัง-จับมือแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย จี้ไทยเลิกคิดแต่เรื่อง‘ความมั่นคง’มุมเดียว

โดย ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ
นักวิจัยประชากร มหิดล ระบุสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในอาเซียนยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ของพม่า ขแมร์กรอม ของเวียดนามใต้ ที่เป็นผู้ไร้แผ่นดินและถูกมองข้ามมากที่สุดในปัจจุบัน จนถูกผลักเข้าสู่ขบวนการแรงงานข้ามชาติทั้งในไทย มาเลเซีย และบังคลาเทศ ขณะที่งานวิจัยระบุ ไทยควรมองผู้ลี้ภัยด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมมากกว่าความมั่นคงเพียงอย่างเดียว และควรพิจารณาระดับผู้ลี้ภัยใหม่ หลังพบชาวพม่ารุ่นที่สองสามเกิดในไทย จนไม่อยากกลับไปพม่า แนะจับมือสร้างกรอบร่ภูมิภาคในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 8 “ประชากรและสังคม 2555” เรื่องประชากรชายขอบและความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอบทความวิชาการด้านการวิจัยประชากรและสังคม หลายประเด็นน่าสนใจ ที่เป็นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหา และข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ประชากรชายขอบ” ผู้ขาดโอกาสทางสังคม และหนึ่งในนั้นคือ “บทความเกี่ยวกับสถานการณ์และท่าทีของรัฐแรกรับต่อปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความยืดหยุ่นคือทางออก” โดย ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากนัก


ปัญหาผู้ลี้ภัย 3 กลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองข้าม


บทความของดร.สักรินทร์ระบุว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น กลุ่มชาวโรฮิงญา จากประเทศพม่า และผู้ลี้ภัยชาวขแมร์กรอม จากประเทศเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนรวมกันหลายแสนคน ที่ถูกจำกัดสิทธิ์ต่าง ๆ เพียงเพราะต้องการหลบหนีจากการประหัตประหาร การเข่นฆ่าทารุนแรง การบังคับใช้แรงงานทาส การคุมคามต่าง ๆ จนดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านี้แทบจะหาแผ่นดินยืนไม่ได้ ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และยังมีนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย แต่เป็นมุมมองด้านความมั่นคงที่ต้องการควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างดาวเป็นหลัก จึงขาดการพัฒนากลไกระดับภูมิภาค เพื่อจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาหาผู้ลี้ภัยได้อย่างถาวร

แม้ปัญหาหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายปี และหลายประเทศต้องรับภาระในการดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมาก แต่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพเรื้อรัง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับถูกมองข้าม ทั้งๆ ที่ประเทศในภูมิภาคนี้ เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพลี้ภัยจากอินโดจีนร่วมกันมาก่อน เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน (Comprehensive Plan of Action for Indochinese Refugees หรือ CPA) ได้แก้ปัญหาผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนจำนวนหลายแสนคน

                      “ในบทความนี้กล่าวถึงผู้ลี้ภัย 3 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในภูมิภาคนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวขแมร์กรอม หรือ เขมรล่าง ที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน” ดร.สักรินทร์กล่าว


จี้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน


บทความชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นปัญหาผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยมาอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของไทย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ประมาณ 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง และกะเรนนี นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัย ที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่พักพิง ประกอบด้วยบุคคลที่เคยอยู่ในพื้นที่พักพิง แต่ออกไปทำงานข้างนอก และผู้ที่หนีภัยเข้ามา แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงที่พักพิง หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่อีกราว 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่จากรัฐฉานของพม่า







สำหรับการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย ในบทความฉบับนี้ระบุว่า ที่ผ่านมาทางการไทยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาบ่อยครั้ง เช่น ในปี 2542 ทางการไทยได้ตั้งคณะกรรมการจังหวัดขึ้น เพื่อกำหนดและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง ว่าเข้าข่ายเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือไม่ โดยผู้ที่ไม่เข้าข่ายดังกล่าว รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่นอกที่พักพิง จะถูกนับว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2551 และอาจถูกส่งกลับ

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดสถานเอกอัครราชทูตพม่าในประเทศไทย ปี 2542 และการบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ในปี 2543 โดยกลุ่มนักศึกษาและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า ทางการไทยได้ระงับการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัย ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการจังหวัดในปี 2544 เพื่อแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการสร้างปัญหาความมั่นคงในไทยของผู้ลี้ภัย และต้องการลดแรงจูงใจ ไม่ให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ เดินทางเขาสู่ประเทศไทยด้วย

                    “ต่อมาเมื่อกลุ่มปัญญาชนพม่า ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR พยายามเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่าในประเทศไทย ทางการไทยได้สั่งให้ UNHCR ระงับการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยรายใหม่จากพม่า ในปี 2548 ทำให้ UNHCR หันมาขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยในฐานะบุคคลในความห่วงใย (Persons Of Concern หรือ POCs: ประกอบด้วยผู้ลี้ภัย, ผู้แสวงหาการลี้ภัย, ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ, บุคคลไร้รัฐ, ผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับประเทศ, ผู้พลัดถิ่นที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม และกลุ่มอื่นๆ) ระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาทางการไทยได้รื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการจังหวัด เพื่อกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงขึ้นใหม่ สลับกับการระงับการดำเนินงานเป็นช่วงๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ขาดนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง”



โรฮิงญา แขมร์กรอม ผู้ลี้ภัยไร้แผ่นดิน


นอกจากนี้ ดร.สักกรินทร์ยังกล่าวถึงผู้ลี้ภัยอีก 2 กลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ ที่ยังประสบปัญหาไร้แผ่นดินและกลายเป็นผู้ไร้สัญชาติ ถูกปฏิเสธจากประเทศที่เคยอยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ในประเทศพม่า และกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวขแมร์กรอม ในประเทศเวียดนาม



ดร.สักกรินทร์บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเคยตกเป็นข่าวไปทั่วโลก เมื่อคนกลุ่มนี้ถูกสังหารจากเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ จนต้องลี้ภัยออกจากพื้นที่นี้อีกครั้ง โดยระบุว่า ชาวโรฮิงยาเป็นชาวมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ (เดิมคือแคว้นอาระกัน) ในพม่า มีชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวพม่าอย่างเห็นได้ชัด และมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับพม่ามาตั้งแต่อดีต ซึ่งรัฐบาลกลางของพม่าถือว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ประชาชนชาวพม่า แต่เป็นคนต่างด้าว การปฏิบัติการแบ่งแยกกลุ่มคนดังกล่าว ทำให้ชาวโรฮิงญาอพยพข้ามพรมแดนไปยังประเทศบังคลาเทศ โดยองค์การสหประชาชาติเข้าให้ความช่วยเหลือ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับประเทศ แต่ต่อมาทางการพม่าได้แยกพลเมืองพม่ากับชาวโรฮิงญาออกจากกันอีกครั้ง ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนไร้สัญชาติ ปัญหาการลี้ภัยของชาวโรฮิงญาจึงเกิดขึ้นอย่างหนักอีกครั้ง เมื่อกองกำลังทหารพม่าได้ปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และชนกลุ่มน้อยอย่างหนัก ทำให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 250,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศอีกครั้ง และอีกราว 15,000 ลี้ภัยไปยังประเทศมาเลเซีย


สลดบังกลาเทศเมินโรฮิงญาลี้ภัย พม่าไม่รับกลับ


สำหรับชาวโรฮิงญา ที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศบังกลาเทศ แม้จะได้รับการยอมรับในตอนแรก โดยทางการบังกลาเทศยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ต่อมารัฐบาลบังคลาเทศได้เจรจากับรัฐบาลพม่า ขอส่งกลับชาวโรฮิญาไปยังภูมิลำเนาเดิมเกือบทั้งหมด ยกเว้นชาวโรฮิงญา 28,000 คน ที่ยังอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 2 แห่ง และยุติการยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ผู้ที่เข้ามาใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2535 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ ไม่สามารถอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ได้ และเนื่องจากปัญหาความหนาแน่นของประชากรและปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้ลี้ภัยในศูนย์จำนวนไม่น้อยได้เล็ดลอดออกไปทำงานในหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อมีการตรวจสอบ ทำให้กลุ่มนี้ถูกผลักดันออกนอกประเทศ จนกลายเป็นกลุ่มคนไร้รัฐ ไม่สามารถกลับประเทศพม่าได้ และทางการบังกลาเทศก็ไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน


ในส่วนของกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อพยพลี้ภัยไปยังประเทศมาเลเซีย ในเบื้องต้นมาเลเซียได้ให้ความช่วยเหลือร่วมกับ UNHCR และวางเฉยต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนกลุ่มนี้ เนื่องจากขณะนั้นมาเลเซียตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน แม้ต่อมาจะมีการเข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย จนทำให้มีการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศ ทำให้มาเลเซียเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานอีกครั้ง มาตรการดังกล่าวจึงได้ผ่อนคลายลง ต่อมาชาวโรฮิงญาพยายามลี้ภัยทางเรือ เพื่อไปตั้งรกรากที่ประเทศนี้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการตอบรับจากมาเลเซียว่า จะดูแลชาวโรฮิงญาในรูปแบบใด


ปฏิเสธขแมร์กรอมเป็นผู้ลี้ภัย จนกลายเป็นแรงงานข้ามชาติ


สำหรับชาวขแมร์กรอม เป็นกลุ่มชนเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขง และทางภาคตะวันออกของกัมพูชาที่ติดต่อกับเวียดนาม ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงถึงการเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเวียดนามและกัมพูชา ทำให้กลุ่มขแมร์กรอมต้องประสบปัญหาการละเมิดสิทธิหลายประการ โดยไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากเวียดนามและกัมพูชา จนบางส่วนพยายามที่จะอพยพออกจากเวียดนามเพื่อขอลี้ภัยในประเทศไทย แต่ UNHCR ปฏิเสธคำขอลี้ภัย เนื่องจากถือว่าคนเหล่านี้เป็นพลเมืองกัมพูชา ซึ่งสามารถหนีภัยคุกคามจากเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ในกัมพูชาได้อยู่แล้ว คนเหล่านี้จึงถูกทางการไทยส่งกลับไปยังกัมพูชา แต่คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นชาวกัมพูชาได้ พยายามที่จะข้ามแดนกลับมายังประเทศไทยอีก และผันตัวเองเป็นแรงงานข้ามชาติไปในที่สุด

ดร.สักกรินทร์กล่าวในเวทีการประชุมว่า ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ลี้ภัยสงครามเหล่านี้ กลายเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองในสถานภาพผู้ลี้ภัย เช่น กลุ่มชาวโรฮิงญาในไทยและมาเลเซีย ชาวขแมร์กรอมในไทย ชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน ที่อพยพเข้ามาในไทย โดยส่วนใหญ่พบว่า คนกลุ่มนี้เป็นแรงงานในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน  ดังนั้นปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยจึงเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ แม้ในทางกฎหมายบุคคลทั้งสองกลุ่ม จะมีสถานภาพแตกต่างกันก็ตาม


แนะหาความร่วมมือแก้ไขในระดับภูมิภาค


สำหรับข้อเสนอแนะต่อทางออกการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยดังกล่าว ดร.สักกรินทร์ระบุหลักๆ ไว้อาทิ ควรมีการพัฒนาการความร่วมมือในกรอบภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง ประเทศที่สาม องค์การระหว่างประเทศ และองค์การพัฒนาเอกชน เพื่อนำไปสู่การแบ่งเบาภาระ และพัฒนาหลักเกณฑ์ ระบบกฎหมาย กลไก และขีดความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในระดับภูมิภาค โดยไม่ต้องติดยึดแนวทางการส่งผู้ลี้ภัยกลับ หรือมีการตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่อาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของภูมิภาคอื่น


ติงอย่ามองผู้ลี้ภัยแค่ในประเด็นความมั่นคง


                        “ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ควรให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ลี้ภัย ในเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคมากขึ้น แต่มิใช่จากมุมมองที่ว่า ผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นคุกคามต่อความมั่นคงเท่านั้น แต่ควรพิจารณาในแง่การคุ้มครองผู้ลี้ภัย และขยายความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย โดยควรมีการสร้างกลไกความร่วมมือในกรอบอาเซียนควบคู่กันด้วย โดยชั้นแรกจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันในระดับภูมิภาค และพัฒนาแนวทางร่วมกันในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย นับตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยตามแนวทางสากล กำหนดแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้แสวงหาการลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ ให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายจากประเทศแรกรับไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีมาตรฐานคุ้มครองสูงกว่า การจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ลี้ภัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง และประเทศที่สาม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยเป็นหลัก” ดร.สักกรินทร์กล่าว


ไทยควรผ่อนคลายการส่งกลับผู้ลี้ภัยรุ่นสอง-สาม


นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยืดหยุ่นและเป็นสากลมากขึ้น โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ต้องพัฒนารูปแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม การช่วยให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ และการอนุญาตให้เกิด Local Intergration (การได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตในประเทศที่ขอลี้ภัยได้ ซึ่งมีการอนุญาตหลายระดับ) ในบางระดับ

จากปัจจุบันที่ประเทศไทยปฏิเสธแนวทาง Local Intergration อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ที่พักพิงชั่วคราว และต้องการส่งกลับผู้ลี้ภัยเมื่อสถานการณ์ในพม่าเอื้ออำนวย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศพม่าได้ เนื่องจากเป็นผู้ลี้ภัยรุ่นที่สองหรือสามที่เกิดในประเทศไทย ไร้สัญชาติพม่า และขาดความผูกพันกับภูมิลำเนาดั้งเดิมของครอบครัว  ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจ แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายลงในอนาคต ดังนั้นไทยจึงควรใช้แนวทางการผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการ เพื่อให้เกิด Local Intergration ในบางระดับแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้ว


หวังผู้ลี้ภัยพม่ากลับบ้านปลอดภัยหลังเปิดประเทศ


ดร.สักกรินทร์ยังเสนอแนะด้วยว่า ประเด็นที่กำลังถูกกล่าวถึงขณะนี้คือ การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยสมัครใจในอนาคต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้ออำนวย สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าในปี 2555 มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ภายหลัง พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีประเทศพม่า ดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมตัวเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 อีกทั้งมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกะเหรี่ยง ไทยใหญ่ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในช่วงต้นปี 2555 ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย ให้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมโดยสมัครใจด้วยความปลอดภัยในอนาคต

ดังนั้นประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศที่สาม และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงควรแสวงหาลู่ทางในการสร้างกระบวนการและเงื่อนไข ให้เกิดการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจ เมื่อสันติภาพกลับสู่ประเทศพม่าอย่างแท้จริง

             “ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาระบบกฎหมาย และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัย อีกทั้งมิได้มีนโยบายระดับชาติที่ชัดเจน ในการแก้ปัญหานี้อย่างถาวร ทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยถูกมองว่า เป็นปัญหาความมั่นคงมาโดยตลอด จนเกิดการผูกขาดด้านนโยบาย ซึ่งที่จริงแล้วประเด็นผู้ลี้ภัยเกี่ยวข้องกับมิติต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบริการสาธารณต่างๆ อีกทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็มีจำนวนมาก ดังนั้นภาครัฐควรเปิดโอกาสให้บุคคลกลุ่มต่างๆ มีส่วนในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยให้มากขึ้นยิ่งกว่าปัจจุบัน” ดร.สักกรินร์กล่าว 

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์


             โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์ โดย นพวรรณ สิริเวชกุล / nopawan@ymail.com คลิกที่ไอคอนด้านบนเพื่อ ชม และ ฟัง ในรูปแบบ MULTIMEDIA ไม่มีที่มา...ไม่มีที่อยู่...ไม่รู้ที่ไป...เป็นสิ่งที่ดิฉันนึกถึงคนกลุ่มนี้ค่ะ...ไร้แผ่นดินอาศัย ไร้จุดหมายของชีวิต ไร้สิ้นทุกสิ่ง...มีชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์ ..ชนเผ่าโรฮิงยา... หลายวันมานี้ดิฉันจดจ่ออยู่กับข่าวความคืบหน้าของชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลไทย จนเป็นเหตุให้สื่อต่างประเทศโจมตีเมืองไทยถึงการผลักดันชนกลุ่มนี้ออกนอกแผ่นดิน... โรฮิงยาชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกันหรือยะไข่ในแผ่นดินพม่ามาตั้งแต่ศตวรรษที่7 คือใครกันแน่?! ในมุมมองของรัฐบาลพม่ากล่าวว่า โรฮิงยาคือผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย...ในสายตาของชาวตะวันตกมองว่าโรฮิงยาเป็นกลุ่มชนที่ต้องรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน....และสายตาของคนไทยอย่างเราเล่า

Rohinya

UNHCR เผย ประชาชนในรัฐอาระกันไร้บ้านกว่า 80,000 คน


  ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีประชาชนต้องไร้บ้าน 8 หมื่นคน ขณะที่ทาง UNHCR ได้สร้างค่ายที่พักชั่วคราวหลายแห่งให้กับชาวบ้านที่ต้องไร้บ้าน ขณะที่สถานการณ์ในรัฐอาระกันล่าสุด มีรายงานว่า ผู้นำศาสนาอิสลามกว่า 360 คน จากเมืองมงดอว์ อัคยัพ บูทีดอง ราทีดองและเมืองจ่อตอ ถูกจับกุมตัวไปยังสถานีตำรวจ โดยผู้นำทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และทำร้ายร่างกาย โดยยังสั่งไม่ให้ผู้นำศาสนาให้สัมภาษณ์กับสื่อ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้กวาดล้างผู้นำศาสนาและนักศึกษา จึงทำให้ขณะนี้ ผู้นำศาสนาและนักศึกษาชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่ไม่กล้าอยู่ที่หมู่บ้าน และต้องหลบหนีซ่อนตัวไปที่อื่นอีกด้านหนึ่งยังพบว่า ชาวบ้านในเมืองราทีดองถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกจากบ้านของตัวเอง ทำให้ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนอาหาร เนื่องจากไม่สามารถไปซื้ออาหารที่ตลาดได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาวโรฮิงยาในพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่ารีดไถเงินมากยิ่งขึ้น โดยชาวบ้านที่ไม่สามารถจ่ายเงินให้กับทางเจ้าหน้าที่ได้ก็จะถูกจับกุม
  ทางด้านนางเนวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพม่าที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การความร่วมมืออิสลาม( The Organization of Islamic Cooperation – OIC) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศอิสลาม ปัจจุบันมีสมาชิก 57 ประเทศได้เรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีให้ช่วยเหลือในการยุติก่อเหตุความรุนแรงและกดขี่ต่อชาวมุสลิมโรฮิงยาทางภาคตะวันตกของประเทศ
  ทางกลุ่ม OIC ยังเรียกร้องให้นางซูจีโน้มน้าวให้รัฐบาลพม่ายอมให้นานาชาติเข้าไปสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเปิดให้องค์กรต่างชาติเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งเรียกร้องให้สื่อต่างชาติสามารถเข้าไปทำข่าว ทั้งนี้ กลุ่ม OIC ยังแสเงความเป็นห่วงอย่างมากว่า การเละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงยาจะยังดำเนินต่อไป ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในพม่ากว่า 8 แสนคน

ที่มา Mizzima/http://merhrom.wordpress.com

นศ.มุสลิมชุมนุมร้องอาเซียนกดดันพม่าให้ความเป็นธรรมโรฮิงญา

วันนี้ (23 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กลุ่มนักศึกษาประมาณ 20 คนที่อ้างตัวว่ามาจาก 5 กลุ่มคือ สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายนักศึกษาและเยาวชนเพื่อพิทักษ์ประชาชน ได้เดินทางมาชุมนุมพร้อมกับชูป้ายที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนพิษณุโลก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งพม่า กำลังหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาดังกล่าว ได้ทำแถลงการณ์ถึงนายเต็ง เส่ง ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ชาวโรฮิงญาในพม่า 4 ข้อ จากเหตุการณ์ที่ชาวยะไข่กว่า 300 คน บุกโจมตีและทำร้ายชาวพม่ามุสลิม 10 คนบนรถบัส เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลพม่ากลับนิ่งเฉยและปฏิเสธที่จะให้องค์กรเพื่อมนุษยชนเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด กดดันเพื่อให้เกิดการปกป้องรักษาชีวิตและสอบสวนให้ความเป็นธรรมกับชาวโรฮิงญา รวมทั้งวอนต่อสื่อไทยในการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย.

'เต็งเส่ง'พูดชัดให้ยูเอ็นดูแลผู้ลี้ภัยโรฮิงยา

ประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐ แถลงเมื่อวันพุธ (11 ก.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐได้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร เพื่ออนุญาตให้บริษัทเอกชนสหรัฐเข้าไปดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบในพม่า ขณะเดียวกัน เพิ่มอำนาจให้กระทรวงการคลัง สามารถลงโทษนักลงทุนที่เข้าไปดำเนินธุรกิจที่เป็นการทำลายกระบวนการปฏิรูปการเมือง
ตามเงื่อนไขการผ่อนปรนคว่ำบาตรบริษัทเอกชนสหรัฐสามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า แต่ต้องแจ้งกระทรวงต่างประเทศภายใน 60 วัน และทุกบริษัทที่ลงทุนเกินกว่า 5 แสนดอลลาร์ (กว่า 15.5 ล้านบาท) ต้องยื่นรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ต่อกระทรวงต่างประเทศทุกปี
ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชน มองว่า การจัดทำรายงานแค่นั้นไม่เพียงพอ รัฐบาลสหรัฐควรผลักดันให้มีการปฏิรูปธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชนในพม่าก่อนเปิดให้เข้าไปลงทุน นอกจากนี้ พวกเขามองว่า สหรัฐกำลังให้รางวัลกับสถาบันที่อยู่เบื้องหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า สวนทางกับคำเตือนของนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าก่อนหน้านี้ ที่ไม่ต้องการให้บริษัทต่างชาติลงทุนร่วมกับรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า
แต่แถลงการณ์ของนายโอบามา ได้กำชับด้วยว่า รัฐบาลและนายทหารพม่าที่ยังคงใช้อำนาจโดยมิชอบ คอรัปชั่น หรือทำลายเสถียรภาพ จะไม่ได้รับรางวัลจากการปฏิรูป พร้อมกันนี้ได้ประกาศคว่ำบาตรต่ออุตสาหกรรมทหารของพม่าที่ไปทำข้อตกลงพัฒนาขีปนาวุธร่วมกับเกาหลีเหนือเมื่อปี 2551 ด้วย
การผ่อนปรนคว่ำบาตร เป็นอีกความพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับพม่าล่าสุด ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง นายเดเร็ก มิทเชลล์ ทูตสหรัฐประจำพม่าคนแรกในรอบ 22 ปี เพิ่งเดินทางถึงกรุงเนปิดอว์และเริ่มงานวันแรก

ด้านสำนักงานประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน ว่าผู้นำพม่าได้แจ้งกับนายอันโตนิโอ กูเตียเรส ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ที่อยู่ระหว่างเยือนพม่าว่า พม่าไม่สามารถยอมรับชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์และเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ ทางออกสุดท้ายในประเด็นนี้คือการส่งมอบชนไร้รัฐเหล่านั้น ให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยและดูแลเอง หรือหากมีประเทศที่สามต้องการรับพวกเขาไปอยู่ พม่าก็พร้อมจะส่งไป
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กำลังพิจารณาอนุญาตให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ตั้งค่ายพักพิงในพม่า ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่

นักเคลื่อนไหวพม่าในญี่ปุ่นสนับสนุนแผนส่งชาวโรฮิงยาไปประเทศที่สามของประธานาธิบดีเต็งเส่ง

มีรายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวพม่าที่อยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งนำโดยกลุ่ม Association of United Nationalities in Japan (AUN) ได้ออกมาประท้วงหน้าสำนักงานสหประชาชาติในกรุงโตเกียวเพื่อสนับสนุนแผนการของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่จะขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงยาไปยังประเทศที่สาม

สืบเนื่องก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวกับนาย Antonio Guterre หัวหน้าหน่วยงาน UNHCR ว่า ชาวโรฮิงยาไม่เป็นที่ต้อนรับในพม่า หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งเมื่อเดือนที่แล้ว โดยกล่าวต้องการให้สหประชาชาติหรือยูเอ็นเข้ามารับผิดชอบชาวมุสลิมโรฮิงยา พร้อมระบุ ทางออกของปัญหาชาวโรฮิงยาคือการส่งชาวโรฮิงยาทั้งหมดไปอยู่ยังค่ายผู้ลี้ภัยของ UNHCR และยินดีส่งชาวโรฮิงยาไปยังประเทศที่สาม อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจที่นักเคลื่อนไหวชาวพม่าในญี่ปุ่นกลับเห็นด้วยกับแผนการนี้ของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่ประชาธิปไตยเหล่านี้ต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2008 และต่อต้านเหตุการณ์ที่ทางรัฐบาลพม่าปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์ในปี 2007

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา

ในเดือกมกราคม พ.ศ. 2552 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาจำนวน 1,000 คนอพยพมาจากประเทศพม่า ได้ถูกทหารพม่าจับกุมพร้อมทั้งถูกทารุณกรรม จากนั้นถูกจับโยนลงทะเลโดยไม่มีเรือมารับ และขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร เรื่องนี้รัฐบาลทหารพม่าออกมาตอบโต้ในเบื้องต้นว่า ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวเกินความจริง และที่ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ใช้เรือใบโดยไม่มีเครื่องยนต์และห้องน้ำบนเรือ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือพวกเขาขึ้นมายังชายฝั่ง ทางด้าน โฆษกกระทรวงกลาโหมพม่า ออกมาปฏิเสธว่าสื่อรายงานไม่ถูกต้อง[4]

นอกจากนี้สื่อยังได้รายงานผลการสอบสวนว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้หายตัวไปจากการกักขังที่ส่วนกลางและยังไม่พบว่าอยู่ที่ไหน รัฐบาลทหารพม่าให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า "พวกเราอาจหยุดเดินเรือหรือพวกเขาจะกลับมา ทิศทางลมจะพาพวกเขาไปยังอินเดียหรือไม่ก็ที่อื่น"[5] จากนั้นรัฐบาลทหารพม่าให้สัญญาว่าจะดำเนินการสอบสวนผู้นำทางทหารอย่างเต็มที่ แต่ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่หาว่าปกปิดการใช้อำนาจกองทัพไปในทางที่ผิด การสอบสวนถูกนำโดย แองเจลินา โจลี ทูตสันถวไมตรีแห่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าว่าไม่สนใจไยดีต่อสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของชาวโรฮิงยา และเสนอแนะว่ารัฐบาลทหารพม่าควรดูแลคนกลุ่มนี้ให้ดีกว่าตอนที่อยู่ภายใต้การควมคุมของพม่า กระทรวงการต่างประเทศออกมาตำหนิ UNHCR มีการบันทึกว่า UNHCR ไม่มีอำนาจหน้าที่และการกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะอ้างถึงกระทรวงการต่างประเทศ และอาคันตุกะของกระทรวงการต่างประเทศ[6][7]

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปลือยชีวิต ชาวโรฮิงญา กับชีวิตที่มากกว่าคำว่า..โหดร้าย




เปลือยชีวิต ชาวโรฮิงญา กับชีวิตที่มากกว่าคำว่า..โหดร้าย (คมชัดลึก)
          "อยู่ที่รัฐอาระกัน ก็เหมือนรอคอยความตาย สู้บากหน้ามาหาความหวังใหม่ดีกว่า"
          "โรฮิงญา" ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า เชื้อชาติอาระกัน เอ่ยปากเล่าถึงชีวิตที่สุดแสนจะโหดร้ายของพวกเขา ในเขตพื้นที่จังหวัดหม่องดอ และจังหวัดสิดอ ในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า

          มามุต ฮุดเซ็น อายุ 50 ปี เล่าถึงครอบครัวของเขาที่จังหวัดหม่องดอ ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ติดกับประเทศบังกลาเทศ ว่า มีเมีย 1 คน ลูกชาย 1 คน ผู้หญิง 3 คน มีอาชีพทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวโรฮิงญาในย่านดังกล่าว "ลำบากมากๆ" มามุต บ่น เนื่องจากบางวันแทบจะไม่มีอะไรกินเลย เพราะความยากจน และยังถูกกลั่นแกล้งจากทหารพม่า ที่มักจะเข้ามาในหมู่บ้าน เก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้านไปหน้าตาเฉย ใครขัดขืนก็จะโดนเฆี่ยนด้วยหวาย หรือบางรายถึงขั้นโดนฆ่าทิ้งก็มีให้เห็นบ่อยๆ เมื่อใครไปขายของได้เงินแล้วหากทหารพม่ารู้ ก็จะเข้ามาถามก่อนที่จะแย่งเงินเหล่านั้นไปทันที 

          "ไม่มีสภาพความเป็นคน หรือเป็นมนุษย์เลย พวกเราอยู่อย่างไร้อนาคต โดนกดดันจากทหารพม่าตลอดเวลา ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหน โดยเฉพาะการเดินทางข้ามเขตที่ไม่สามารถทำได้เลย จะเดินทางไปมาได้ก็เฉพาะภายในจังหวัดที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เท่านั้น เพราะหากออกนอกพื้นที่ไม่เฉพาะทหารพม่าที่คอยจับจ้อง ชาวพม่าก็ไม่ชอบขี้หน้าพวกเรา และบ่อยครั้งที่พวกเราโดนทำร้ายร่างกายโดยชาวพม่า หรือโดนดูถูกเหยียดหยาม ถ่มน้ำลายใส่ก็มี"
          ฮามิด ดูซัน ชายหนุ่มอาระกัน วัย 19 ปี กล่าวว่า พวกเรายากจนมาก ซ้ำร้ายโดนกลั่นแกล้งตลอดเวลา ออกไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งยังเป็นชนกลุ่มที่รัฐบาลพม่ารังเกียจมากที่สุด ถึงขั้นไม่ยอมรับว่ามีพวกเราอยู่ในประเทศ พวกเราไม่มีสิทธิอะไรเลย ทั้งที่ดิน การศึกษา การรักษาพยาบาล 

          "น้อยใจครับ ผมเกิดในจังหวัดหม่องดอ รัฐอาระกัน ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศพม่า แม้ว่าผมจะมีเชื้อสายบังกลาเทศ แต่การที่เกิดที่รัฐอาระกัน ก็มีความรักและความผูกพันต่อแผ่นดินเกิด แต่แผ่นดินที่ผมเกิดกลับไม่ต้อนรับผม ผมไม่เข้าใจครับ โดยเฉพาะการตั้งข้อรังเกียจต่อพวกเราของรัฐบาลทหารพม่า" 

          ฮามิด เล่าอีกว่า ชาวโรฮิงญา แม้ว่าจะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีกับชาวพม่าสมัยรัฐบาลอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมในย่านนี้ แต่หลังจากอังกฤษออกไปแล้ว พวกเราถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยต่อสู้ หรือเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลทหารพม่าเลย นอกจากเรียกร้องขอ  “สิทธิความเป็นคน” ให้ทัดเทียมกับชาวพม่าทั่วไปแค่นั้นพวกเราก็พอใจแล้ว
          เชย ลี ฮัน ดา อายุ 25 ปี จากจังหวัดมุสิดอ กล่าวว่า ตอนที่โดนจับตัวอยู่ที่ สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง และได้รับอาหารจากตำรวจไทย เชื่อไหมว่า เมื่อได้กินข้าวคำแรกน้ำตาไหลออกมาทันที และหลายคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน คือ นอกจากจะซาบซึ้งในน้ำใจของคนไทยที่ต่างจากชาวพม่าที่โดนจับ และโดนทำร้ายที่เกาะแห่งหนึ่งในพม่า 

          "พวกเราโดนควบคุมตัวไว้ถึง 5 วัน ไม่ได้กินอะไรเลย"
          ฮัน ดา เล่าขณะน้ำตาคลอเบ้าว่า อีกเหตุผลที่ทำให้น้ำตาร่วง คือ คิดถึงลูกเมียที่บ้าน บ่อยครั้งที่พวกเราอดข้าว ไม่มีอะไรจะกิน บางครั้งกินแค่วันละมื้อ จะกินครบ 3 มื้อเช่นคนทั่วไปก็น้อยเต็มที โดยเฉพาะหลายครั้งที่ต้องอด เนื่องจากต้องการให้ลูกเมียอิ่มก่อน ส่วนเราผู้ชายอดทนได้

          "ทุกคนรักบ้านเกิดครับ ไม่มีใครที่ต้องการดิ้นรน หรือดั้นด้นเดินทางออกจากบ้านเกิด มีแต่ทุกคนดิ้นรนเพื่อที่จะอาศัยอยู่ในบ้านเกิดหรือถิ่นฐานที่ตนถือกำเนิด แต่จากความโหดร้ายที่พวกเราได้รับ มันสุดที่จะบรรยายให้เห็นหรือให้รับรู้ได้ หากไม่เจอด้วยตนเองยากที่จะบรรยายจริงๆ ผมถามเพื่อนๆ ถึงความรู้สึกตอนนี้ ทราบว่าทุกคนห่วงเมีย ห่วงลูกที่อยู่ที่รัฐอาระกัน โดยเฉพาะอาจจะถูกทำร้ายอีกหลังจากที่ทหารพม่าทราบว่าพวกเราหายตัวไป"

          มามัด จอคิด อายุ 24 ปี จากจังหวัดมุสิดอ ซึ่งยังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลระนอง หลังจากโดนทหารพม่าทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเรือที่เดินทางกำลังลอยลำบริเวณจังหวัดมะริด ประเทศพม่า "ทันทีที่ทุกคนเห็นทหารพม่า ซึ่งนั่งเรือรบมาทั้งหมด 4 ลำ ล้อมรอบพวกเรา กลัวมากครับ เพราะทุกคนรู้ถึงกิตติศัพท์ความโหดร้ายของทหารพม่าเป็นอย่างดี"
          บางคนตัวสั่นเทาไปหมด และแล้วในที่สุดพวกเราก็ได้รับการทำทารุณกรรมจริงๆ ตั้งแต่ทหารพม่าลงมาควบคุมตัว จะแตะ ต่อย ตบหน้า ถีบ จนกระทั่งนำตัวพวกเราไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ทุกคนจึงถูกลงโทษโบยด้วยแส้จนได้รับบาดเจ็บ และใช้ผ้าพันชุบน้ำมันจุดไฟเผามาลน ตนเองโชคร้ายที่สุด เพราะเป็นแผลฉกรรจ์ที่ขา "เจ็บมากๆ ครับ แต่พวกเราทุกคนทนได้ เพราะความเจ็บปวดแค่นี้ เมื่อเทียบกับความโหดร้ายที่เราได้รับอยู่ทุกวันมันเทียบกันไม่ได้เลย"           มามัด จอคิด เล่าต่อว่า หลังจากพวกเรานอนทนทุกข์ทรมานอยู่ถึง 4 คืน 5 วัน ทหารพม่าจึงปล่อยลงเรือ และให้เดินทางต่อจนถูกทหารไทยจับตัว “ทุกคนดีใจ กราบพระอัลเลาะห์ทันทีที่เห็นทหารไทย เพราะทุกคนรู้ว่านั่นคือ รอดแล้วจากความรู้สึกในตอนนั้น” พวกเราไม่เคยคิดที่จะมาทำให้คนไทยยุ่งยาก เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะไปไหน ทุกประเทศล้วนรังเกียจพวกเรา 

          "แม้ผมจะถูกควบคุมตัวในเมืองไทย โดนจองจำในห้องขัง ในเรือนจำ หรือที่ไหนๆ พวกเราดีใจเพราะนั่นเป็นชีวิตที่สุขสบายที่สุดที่ได้พบเจอ ตอนนี้ผมนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลระนอง คุณรู้ไหมว่าความรู้สึกผมเหมือนอยู่โรงแรมชั้น 1 อยู่ห้องพักดีๆ ได้กินอาหารอิสลามที่อร่อยที่สุดในชีวิตของผม ทั้งๆ ที่ผมน่าจะเป็นทุกข์กับสภาพบาดแผลที่ผมได้รับ แต่ความรู้สึกเป็นสุขมันมีมากกว่าจริงๆ ครับ ผมอิจฉาคนไทยจริงๆ ที่ได้เกิดมาบนผืนดินแห่งนี้ ผืนแผ่นดินที่มีแต่ความสุข ไม่เป็นผืนแผ่นดินที่มีแต่ความทุกข์เช่นผืนแผ่นดินของพวกผม" มามัด จอคิด กล่าวในที่สุด