วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชาวอินโดฯประท้วงให้พม่ายุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยา

ชาวอินโดฯประท้วงให้พม่ายุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยา


   ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียชุมนุมประท้วงในกรุงจาการ์ต้าเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยา
   ผู้สนับสนุนพรรคยุติธรรมและความรุ่งเรือง และผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองมุสลิมในอินโดนีเซียหลายพันคน ชุนนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ใจกลางกรุงจาการ์ต้า เพื่อแสดงการต่อต้านความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติที่มีต่อชาวโรฮิงยาในพม่า โดยผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการนองเลือด และความรุนแรงระหว่างกลุ่มที่มีต่อชาวโรฮิงยาในประเทศ
  โดยความรุนแรงระหว่างชาวโรฮิงยา และชาวพุทธในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่ายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 คน ผู้คนหลายหมื่นคนไม่มีที่อยู่อาศัย
  ชาวพม่าจำนวนมากเห็นว่าชาวโรฮิงยาเป็นผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยอพยพมาจากประเทศบังคลาเทศ และรัฐบาลพม่าไม่เคยยอมรับว่าชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองของประเทศ
  นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ พล.ท.ซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน่ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เน้นย้ำพันธสัญญาของอินโดนีเซียในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยาด้วย

โรฮิงยา...ชีวิตที่ยิ่งกว่าศูนย์



อิเหนาประท้วงไล่ทูตพม่า ไม่พอใจย่ำยีโรฮิงญา


Pic_282690
ชาวอินโดนีเซียประท้วงขับไล่ทูตพม่าประจำจาการ์ตา ไม่พอใจการปฏิบัติต่อโรฮิงญา และร้องให้รับเป็นพลเมืองอย่างถูกต้อง...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวอินโดนีเซียราว 100 คน เคลื่อนไหวประท้วงบริเวณด้านนอกสถานทูตพม่าในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องขับไล่เอกอัครราชทูตพม่า อ้างไม่พอใจรัฐบาลพม่าปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในพม่าอย่างไม่เหมาะสม

กลุ่มผู้ประท้วงชูป้ายข้อความสนับสนุนชาวโรฮิงญา ทั้งขอให้หยุดความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา รวมถึงให้รัฐบาลพม่ายอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อยุติปัญหา

ทั้งนี้ เหตุปะทะระหว่างชาวโรฮิงญาชนกลุ่มน้อยในพม่า กับชาวบ้านพุทธชนส่วนใหญ่ในพื้นที่รัฐยะไข่ เมื่อเดือนมิ.ย. ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยมากราว 60,000 คน.

ชาวโรฮิงญาร้องยูเอ็นช่วย ปชช.ในรัฐอาระกัน (ยะไข่)

http://news.voicetv.co.th/global/41554.html

ซาอุดีอาระเบียจวกพม่า'ล้างเผ่าพันธุ์'มุสลิมโรฮิงยา


รัฐบาลซาอุดีอาระเบียวิจารณ์ทางการพม่า  กล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงยาในรัฐยะไข่

สำนักข่าวเอสพีเอของทางการได้รายงานในวันอังคารว่า เมื่อวันจันทร์ คณะรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย ที่มีกษัตริย์อับดุลเลาะห์ เป็นประธานการประชุม ได้มีมติ "ประณามการรณรงค์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และโจมตีอย่างโหดเหี้ยมต่อพลเมืองมุสลิมชาวโรฮิงยาของพม่า" รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการผลักดันชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศ

มติคณะรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวมุสลิมในพม่า และป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตอีกต่อไป

เจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้หนึ่งในนครย่างกุ้ง เผยว่า การวิวาทระหว่างชาวพุทธในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า กับชาวมุสลิมโรฮิงยา ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 80 คนนับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ในวันอาทิตย์ มีผู้ถูกสังหารเพิ่มอีก 3 ราย

เหตุรุนแรงได้เกิดขึ้นหลังจากผู้หญิงชาวยะไข่คนหนึ่งได้ถูกข่มขืนฆ่า ต่อมาฝูงชนชาวพุทธที่โกรธแค้นได้รุมสังหารชาวมุสลิม 10 คน

กลุ่มสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ได้กล่าวหากองกำลังรัฐบาลพม่าว่า เปิดฉากยิงใส่ชาวโรฮิงยา, ข่มขืน, และวางเฉยเมื่อฝูงชนทั้งสองฝ่ายกรูเข้าห้ำหั่นกัน

เมื่อวันอาทิตย์ องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ซึ่งตั้งอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ได้เสนอให้ส่งคณะผู้แทนของโอไอซีไปตรวจสอบ "การสังหารหมู่" ชาวมุสลิมโรฮิงยา

รัฐบาลพม่าถือว่า ชาวโรฮิงยาราว 800,000 คนในประเทศเป็นชาวต่างชาติ และชาวพม่าจำนวนมากมองว่า คนเหล่านี้เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นศัตรู

การเลือกปฏิบัติที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ ทำให้ชาวโรฮิงยาเป็นคนไร้รัฐ สหประชาชาติระบุว่า คนกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงรังแกอย่างหนักหน่วงที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง

เศรษฐีซาอุฯ ควัก $50 ล้าน ช่วยเหลือโรฮิงญาในพม่า


นักเคลื่อนไหวชาวอิสลามราว 300 คนชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงจาการ์ตาวันที่ 9 ส.ค.2555 เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียหาทางหยุดยั้งการเข่นฆ่าชาวโรฮิงญาในพม่า แต่ในประเทศเศรษฐีน้ำมันซาอุดิอาระเบียไม่มีการชุมนุมประท้วงใดๆ พระราชาธิบดีสั่งตูมเดียวให้ส่งความช่วยเหลือ 50 ล้านดอลลาร์เข้าพม่าในทันที. -- REUTERS/Supri.
       .
      
ริยาด (รอยเตอร์) - พระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงสั่งการให้รัฐบาลส่งความช่วยเหลือไปให้แก่ชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่า เป็นมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เป็นเป้าหมายการปราบปรามของทางการประเทศนั้น นับตั้งแต่การจลาจลที่เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 
      
       รายงานชิ้นหนึ่ง โดยสำนักข่าวของทางการซาอุฯ กล่าวว่า ประชาคมชาวโรฮิงญาได้ “ตกเป็นเป้าการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้าน รวมทั้งการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยให้หมดไป การฆาตกรรม ข่มขืน และการบีบบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน”
      
       “พระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์..ได้มีพระราชดำรัสให้ส่งความช่วยเหลือมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ไปให้แก่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า” สื่อในซาอุดีอาระเบียรายงานเรื่องนี้ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยไม่มีการกล่าวโทษฝ่ายใดที่เกิดการล่วงละเมิดดังกล่าว
      
       อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) แถลงในวันที่ 1 ส.ค. ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเจ็บปวดกับการถูกจับ ถูกเข่นฆ่า และข่มขืนด้วยน้ำมือของกองกำลังรักษาความปลอดภัยพม่า
      
       ชนชาติส่วนน้อยกลุ่มนี้ ตกเป็นเป้าการปราบปรามหลังการวางเพลิง และการไล่ไล่ฟันในเดือน มิ.ย. ทั้งโดยชาวโรฮิงญาเอง และชาวพุทธในรัฐระไค กลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว
      
       แต่พม่า ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 800,000 คน ที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นชนชาติส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่งในประเทศที่มีชนกลุ่มน้อย และกลุ่มนับถือศาสนาต่างๆ กล่าวว่า พม่าได้ใช้ “ความอดกลั้นอย่างที่สุด” ในการปราบปรามการจลาจลที่ผ่านมาให้สงบลง
      
       ซาอุดีอาระเบียได้ทำตัวเองเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของมุสลิมทั่วโลก ฐานเป็นถิ่นประสูติของพระมะหะหมัด และยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดจำนวนหนึ่งของศาสนา ทั้งในนครเมกกะ และเมดินา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในกรุงริยาดก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยอยู่บ่อยๆ ว่า ขาดความเป็นประชาธิปไตย
      
       สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียได้กล่าวประณามพม่าที่ใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในรัฐทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation) ซึ่งประชุมในวันที่ 31 ก.ค. ที่เมืองเจ็ดดาห์ ได้เรียกร้องประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญา
      
       กลุ่ม OIC กำลังจะประชุมระดับผู้นำในนครเมกกะในวันอังคารนี้.
       .

ชาวโรฮิงยาที่อาศัยทำกินในประเทศไทยไปชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ ในวันที่ 23 ก.ค.2555 ระหว่างที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ผู้ชุมนุมราว 100 คนเรียกร้องทางการพม่าให้คุ้มครองความปลออภัยให้แก่ชาวโรฮิงยา และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงหลังเกิดการจลาจลใหญ่ในรัฐระไค. -- REUTERS/Chaiwat Subprasom.
      

ชาวมุนลิมโรฮิงญาถือป้ายประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงกัวลาลัมเปอร์วันที่ 17 มิ.ย.2555 ต่อต้านการจลาจลทางศาสนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในพม่าและเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าช่วยเหลือ ภายหลังเกิดการปะทะระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธในรัฐยะไข่ ช่วงที่ผ่านมามีการประท้วงคล้ายกันนี้ในอีกหลายประเทศ. -- AFP PHOTO/Mohd Rasfan.
      

ผู้ประท้วงชาวปากีสถานคนหนึ่งจัดไฟเผาธงชาติพม่า ระหว่างการชุมนุมประท้วงในเมืองมุลตัน (Multan) วันที่ 27 ก.ค.2555 ต่อต้านการเข่นฆ่าชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า กลุ่มตอลิบานในปากีสถานถึงกับประกาศจะโจมตีพม่าฐานเข่นฆ่าญาติพี่น้องชาวอิสลามของพวกเขา แต่ปากีสถานก็เป็นชาติมุสลิมแห่งแรกๆ ที่ปฏิเสธจะรับชาวโรฮิงญาในพม่าไปตั้งถิ่นฐาน. -- AFP PHOTO/SS Mirza.
       

ห้าม"เอ็นจีโอ"ช่วยโรฮิงญา

      ทางการบังกลาเทศมีคำสั่งให้หน่วยแพทย์ไร้พรมแดนของฝรั่งเศส หรือเอ็มเอสเอฟ และกลุ่มต่อต้านความหิวโหย หรือเอซีเอฟ ระงับการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่หลบหนีภัยความรุนแรงจากพม่าเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายในเขตค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีพรมแดนติดกับพม่า โดยให้เหตุผลว่า ความช่วยเหลือจากองค์กรไม่แสวงหากำไรเหล่านี้เป็นปัจจัยให้เกิดการไหลทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัย

ชาวอิหร่านแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับมุสลิมโรฮิงญาในพม่า


Thursday ,  26 Jul 2012





 
Presstv - ชาวอิหร่านหลายร้อยคนได้จัดการชุมนุมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวมุสลิมเชื้อชาติโรฮิงญาในพม่า และประท้วงต่อการเข่นฆ่าพวกเขาในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้

ระหว่างการชุมนุมที่จัดขึ้นด้านหน้าสำนักงานสหประชาชาติในกรุงเตหะรานเมื่อวันอังคาร ผู้ชุมนุมชาวอิหร่านได้ตะโกนคำขวัญประมาณความโหดร้ายที่กระทำต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา และเรียกร้องให้ยุติการเข่นฆ่าที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าทันที

อิหร่านเรียกร้องให้นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการในทันทีและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวมุสลิมในประเทศ

ในจดหมายที่ส่งให้แก่พิลเลย์ ซัยยิด มุฮัมมัด เรซา ซัจจาดี ผู้แทนถาวรของอิหร่านประจำสำนักงานภาคพื้นยุโรปในกรุงเจนิวาของสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินการในทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประณามและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางต่อชาวมุสลิมผู้บริสุทธิ์ของพม่า” โดยเร็ว

เขายังได้แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อความรุนแรงและการฆ่าอย่างแพร่หลายต่อชาวมุสลิมในพม่า ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก

ซัจจาดีเน้นย้ำว่า คลื่นความรุนแรงลูกใหม่ต่อชาวมุสลิมในพม่า ซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์หลายร้อยคน และเผามัสยิดและบ้านเรือน และการบังคับขับไล่ประชาชนออกจากบ้านเรือนของพวกเขา ได้ทำร้ายความรู้สึกเมตตาสงสารและก่อให้เกิดความกังวลใจอย่างยิ่งแก่ประชาคมระหว่างประเทศและชาวโลก

รัฐบาลพม่าปฏิเสธการรับรองชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่พวกเขาอ้างว่าไม่ใช่ชนพื้นเมืองและถือว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ขณะที่ชาวโรฮิงญาเป็นลูกหลานของมุสลิมชาวเปอร์เซียตุรกี,เบงกอล และปาทาน ที่ได้อพยพมายังพม่าเมื่อศตวรรษที่ 8

ประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่า กล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมว่า “ทางออกเดียว” สำหรับชะตากรรมของมุสลิมโรฮิงญาคือการส่งชาวมุสลิมเกือบหนึ่งล้านคนของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุดในโลก ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยของข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR)

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเพื่อผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติได้ปฏิเสธความคิดที่จะจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อรองรับชาวโรฮิงญา

เราจะส่งพวกเขาออกไปถ้ามีประเทศที่สามยอมรับพวกเขา” เต็งเส่งกล่าว “นี่คือสิ่งที่เรากำลังคิดว่าเป็นทางออกของเรื่องนี้”

แม้แต่นางอองซาน ซูจี ตัวแทนประชาธิปไตยที่ตะวันตกสนับสนุนก็ยังคงนิ่งเงียบกับความโหดร้ายที่กระทำต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา

ตลอดสองปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมกลุ่มนี้พยายามที่จะหลบหนีการกดขี่ของรัฐบาลพม่าออกไปทางเรือ

ตอลิบานปากีสถาน ขู่ถล่มพม่าแก้แค้นให้ชาวโรฮิงญา



เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนล้อมรอบกลุ่มชาวมุสลิมที่กำลังอพยพยออกจากที่อยู่อาศัยพร้อมข้าวของส่วนตัวท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ประชาชนหลายสิบคนเสียชีวิตจากเหตุปะทะกันระหว่างชาวพุทธยะไข่และมุสลิมโรฮิงญา. -- AFP 



    
เอเอฟพี - ตอลิบานปากีสถาน วันนี้ (26 ก.ค.) ขู่โจมตีพม่าเพื่อแก้แค้นเหตุรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา จนกว่าปากีสถานจะระงับทุกความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า และปิดสถานทูตพม่าในกรุงอิสลามาบัด
       
       กลุ่มเตห์ริค-อี-ตอลิบาน (TTP) ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง พยายามที่จะแสดงตัวเองเป็นผู้คุ้มครองชาวมุสลิมทั้งหญิงและชายในพม่า โดยกล่าวว่า “เราจะแก้แค้นให้เลือดของคุณ”
       
       เอห์ซานุลเลาะห์ อาห์ซัน โฆษกของกลุ่มตอลิบานปากีสถานระบุ ต้องการให้รัฐบาลปากีสถานระงับทุกความสัมพันธ์กับพม่า และปิดสถานทูตพม่าในกรุงอิสลามาบัด
       
       “มิเช่นนั้นเราจะไม่เพียงแต่โจมตีผลประโยชน์ของพม่าในทุกที่ แต่จะโจมตีชาวปากีสถานที่มีความสัมพันธ์กับพม่าทีละคน” โฆษกของกลุ่ม TTP ระบุในคำแถลง
       
       ด้านสถานทูตพม่าในกรุงอิสลามาบัด ยังไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
       
       กลุ่ม TTP มักเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัยในปากีสถาน แต่ความสามารถในการก่อเหตุความรุนแรงในต่างประเทศยังคงถูกตั้งคำถาม แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า มีหลักฐานว่ากลุ่มดังกล่าวอยู่เบื้องหลังความพยายามระเบิดไทม์ สแควร์ ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2553 แต่ล้มเหลว ซึ่งนายไฟซาล ชาห์ชาด ชาวอเมริกันเชื้อสายปากีสถานที่เป็นมือระเบิดถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
       
       เหตุปะทะกันเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ในภาคตะวันตกของพม่าระหว่างชาวพุทธยะไข่และมุสลิมโรฮิงญาทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และอีกหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย
       
       เมื่อสัปดาห์ก่อน องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า ประชาชนจำนวนหลายร้อยคนที่ส่วนมากเป็นผู้ชาย และเด็กชายถูกกักตัวในการกวาดต้อนพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดไม่สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้ และบางรายถูกทารุณกรรม นอกจากนั้น การจับกุมส่วนใหญ่ปรากฎว่าดำเนินไปโดยไร้กฎเกณฑ์ และเลือกปฏิบัติ องค์กรนิรโทษกรรมสากลยังระบุอีกว่า มีรายงานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการล่วงละเมิดสิทธิ รวมทั้งการข่มขืน ทำลายทรัพย์สิน และการสังหารอย่างผิดกฎหมาย จากทั้งชาวพุทธยะไข่ และกองกำลังรักษาความปลอดภัย
       
       การเลือกปฏิบัติที่ยาวนานหลายทศวรรษทำให้ชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติ ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลก.

กษัตริย์ซาอุฯ พระราชทานเงิน $50 ล้านช่วยเหลือ “มุสลิมโรฮิงญา” ในพม่า

รอยเตอร์ - กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบียพระราชทานเงินช่วยเหลือจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,570 ล้านบาท) แก่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ซึ่งถูกทางการกวาดล้างตั้งแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในรัฐยะไข่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา              สำนักข่าวของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียรายงานว่า ชุมชนชาวโรฮิงญา “ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ ซึ่งรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, สังหาร, ข่มขืน และบังคับให้ออกจากถิ่นที่อยู่ของตน”              “กษัตริย์อับดุลเลาะห์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยเหลือจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า” สื่อซาอุฯ รายงานวันนี้(13) โดยไม่ได้ตำหนิว่าฝ่ายใดกระทำการล่วงละเมิด              องค์การฮิวแมนไรต์วอตช์แถลงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของพม่าจับกุม, สังหาร และข่มขืน หลังเกิดการปะทะด้วยอาวุธระหว่างชาวพุทธกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ทางการพม่าก็ยืนยันว่าพยายามใช้ความรุนแรงให้น้อยที่สุดกับชาวโรฮิงญาซึ่งมีประชากรในพม่าอย่างน้อย 800,000 คน และเป็นชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ได้รับสิทธิพลเมือง              ซาอุดีอาระเบียยึดมั่นในพันธกิจการเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของมุสลิมทั่วโลก เนื่องจากดินแดนซาอุฯ เป็นต้นกำเนิดของศาสนาอิสลาม และเป็นที่ตั้งของศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในนครเมกกะและมะดีนะห์ ทว่ากรุงริยาดเองก็ถูกวิจารณ์บ่อยครั้งว่าอ่อนแอในเรื่องประชาธิปไตย              สัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีซาอุฯ ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงต่อชาวมุสลิมทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ขณะที่องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ซึ่งจัดการประชุมที่เมืองเจตดาห์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ก็เรียกร้องให้ชาติสมาชิกมอบความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาด้วย


                                      กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย