วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำไมซูจีถึงปิดปากเงียบเรื่องโรฮิงญา

ทำไมซูจีถึงปิดปากเงียบเรื่องโรฮิงญา
     เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม เชื้อสายโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
หลังจากที่นานาชาติเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดรัฐบาลเมียนมาร์จึงปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลาย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
     ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการอพยพของชาวโรฮิงญาอีกหลายหมื่นคน ที่พยายามพายเรือไปยังประเทศบังกลาเทศ แต่กลับถูกรัฐบาลบังกลาเทศปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่ง และส่งตัวกลับมายังเมียนมาร์ จนทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าว ต้องทนแบกรับกับภาวะไร้สัญชาติ และพบกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งหนึ่งที่ทุกคนอาจหลงลืมไปก็คือ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมาร์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาร์ รวมถึงเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้หายไปจากเวทีการเมืองของเมียนมาร์ และที่สำคัญ เธอยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่แต่อย่างใด แต่ท่าทีดังกล่าวของนางซูจี ก็ไม่ได้ทำให้นักวิเคราะห์ทั้งหลายแปลกใจมากนัก เนื่องจากประเด็นปัญหาในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งหากว่าเธอออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อพันธมิตรทางการเมืองของเธอ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต่อต้านชาวโรฮิงญา อีกทั้ง ความคิดเห็นของชาวเมียนมาร์ทั้งหลาย ก็ค่อนข้างเป็นไปในทางลบ เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เนื่องจากพวกเขามองว่า ชาวโรฮิงญาได้เข้ามาสร้างความวุ่นวาย และแย่งอาชีพ รวมถึงที่ทำกินของชาวเมียนมาร์ โดยเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ ได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของอังกฤษ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกแปลกใจที่นางซูจี ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น หรือต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้แก่ชาวโรฮิงญา ซึ่งในตอนแรก เขาคาดหวังว่า นางซูจีจะแสดงความเป็นผู้นำ ที่มีจุดยืนที่เด่นชัดทางด้านมนุษยธรรม และศีลธรรมมากกว่านี้ เพราะการออกมาปกป้องชาวโรฮิงญา ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรลงมือทำอย่างเร่งด่วน
    นอกจากนี้ นางซูจียังได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเมียนมาร์ ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการในการสร้างหลักนิติธรรม ความสงบ และความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งบทบาทดังกล่าว อาจหมายรวมกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ และความขัดแย้งในรัฐยะไข่ด้วย แต่ดูเหมือนว่า เธอจะยังไม่ได้ทำหน้าที่ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาอย่างสมบูรญ์แบบเท่าไหร่นัก ทางด้านของผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาร์ จาก London School of Economics ก็แสดงความเห็นว่า การที่นางซูจีจะออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไม่ว่าเธอจะแสดงความคิดเห็นในทิศทางใดก็ตาม เธอก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำดังกล่าว เพราะตอนนี้ เธอไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาร์อีกต่อไป แต่เธอกลายเป็นนักการเมือง ที่ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรค และยังต้องคำนึงถึงผลของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
    ทั้งนี้ ปัญหาของกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิม เชื้อสายโรฮิงญา เป็นปัญหายืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาร์ปฏิเสธที่จะให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญากว่า 800,000 คน ที่อาศัยอยู่ตามพรมแดนของเมียนมาร์ โดยก่อนหน้านี้ สหประชาชาติได้ประกาศว่า ปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์นั้น ถือเป็นหนึ่งในปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในโลก และยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ รัฐบาลเมียนมาร์ยังพยายามที่จะผลักดันให้กลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศ ไปยังประเทศที่สาม พร้อมกับทำการจับกุม และกวาดล้างชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่ก็ยังเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงนางอองซาน ซูจีด้วยเช่นเดียวกัน

เรือจากปีนังนำสิ่งของช่วยโรฮิงยา

โรฮิงญา กับปัญหาพิสูจน์สัญชาติ?

"โรฮิงญา"..อย่าร้องไห้

นักศึกษา ม.อ.ปัตตานีจี้รัฐบาลพม่าหยุดฆ่าโรฮิงญา


       ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - 11 องค์กรนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เดินขบวนปกป้องชาวโรฮิงญา ประณามเหตุทารุณกรรม ร้องรัฐบาลพม่าหยุดฆ่า ทำลาย พร้อมเปิดรับบริจาคเงินช่วย       เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 15 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ปกป้องโรฮิงญา จัดโครงการปกป้องชาวโรฮิงญา (Save Rohingyo) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 90 คน ที่ลานด้านหน้ามัสยิดกลางปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยนายนูรุดดีน มูลทรัพย์ แกนนำนักศึกษาเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีปกป้องชาวโรฮิงญา เป็นผู้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้าน และประณามผู้อธรรมต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา       นายนูรุดดีน ประกาศว่า เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีปกป้องชาวโรฮิงญา ภายใต้องค์กรบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้เฝ้าติดตามโศกนาฏกรรมด้วยความเจ็บปวดที่ชาวโรฮิงญา รัฐยะไข ประเทศพม่า ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์ของเรากำลังถูกกดขี่ ข่มเข่ง ถูกย่ำยี ถูกอธรรมอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ถูกทำลายศักดิ์ศรี และเกียรติยศของความเป็นมนุษย์ ไร้ซึ่งมนุษยธรรมอย่างที่สุด       เครือข่ายฯ ขอประกาศเจตนารมณ์ดังนี้ 
       1.ขอประณามการกระทำที่โหดร้ายทารุณ ป่าเถื่อน ด้วยการเข่นฆ่า ทำลายชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องชาวโรฮิงญาที่บริสุทธิ์โดยไม่มีความผิดใดๆ ถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรี และเกียรติยศของความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล       2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า หยุดเข่นฆ่า และอยู่เบื้องหลังการอธรรม หยุดสนับสนุนให้ชาวยะไข่ทำร้ายทรัพย์สิน อิสรภาพ และศักดิ์ศรีพี่น้องชาวโรฮิงญาโดยฉับพลัน เปิดโอกาสให้ชาวโรฮิงญาได้ใช้ชีวิตอย่างอย่างอิสรภาพตามหลักสิทธิหลักสิทธิมนุษยชนอันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวโลกเรียกร้อง และพึ่งปรารถนา       3.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ต้องรับผิดชอบต่อการหลั่งเลือด การคร่าชีวิต และการทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของชาวโรฮิงญาถือเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์พร้อมที่จะมอบเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และเกียรติยศให้แก่ชาวโรฮิงญา       4.เครือข่ายฯ ขอเชิญชวนบรรดาผู้นำโลก บรรดาอุลามาอุ องค์กรทางศาสนา องค์กรนักศึกษา และพี่น้องมุสลิมทุกท่าน ช่วยกันสนับสนุนสัจธรรม ยับยั้งการอธรรมถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียสิ่งที่รัก และหวงแหนมากที่สุดก็ตาม ขอให้ทุกคนช่วยกันดุอาอุ และให้การช่วยเหลือพี่น้องโรฮิงญาในรูปแบบต่างๆ เท่าที่พวกเรามีความสามารถ       นายนูรุดดีน เปิดเผยด้วยว่า โครงการนี้มี 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.อ่านประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านประณามผู้อธิธรรมต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา 2.เปิดกล่องรับบริจาคช่วยเหลือพี่น้องชาวโรงฮิงญา 3.แสดงรูปภาพชาวโรฮิงญาที่ถูกทารุณ 4.เดินขบวนแจกใบปลิวให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีเกี่ยวข้องกับชาวกับโรงฮิงญา       นายนูรุดดีน เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดจากเครือข่ายนักศึกษาฯ ได้ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ที่นำเสนอประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรงฮิงญาซึ่งเป็นชาวมุสลิมในประเทศพม่า โดยศาสนาอิสลามถือว่า “มุสลิมเปรียบเสมือนร่างเดียวกัน ส่วนหนึ่งหนึ่งใดเจ็บ ส่วนอื่นก็จะเจ็บไปด้วย” จึงจัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์รวมต่อต้าน และประณามผู้อธรรมต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา       นายนูรุดดีน เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเงินบริจาคนั้น เครือข่ายนักศึกษาฯ เปิดรับบริจาค 2 ช่องทาง ได้แก่ เปิดกล่องรับบริจาค และเปิดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสงขลานครินทร์ ชื่อบัญชี นายมูฮำหมัด เจ๊ะแต น.ส.ววิลดาญ เด่นดารา นายซอฟวาน สามะ เลขที่บัญชี 704-252053-9 โดยเงินที่ได้จะส่งให้แก่มูลนิธิเพื่อการศึกษา และพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์นำไปมอบให้ชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า
       สำหรับรายองค์กรภาคีเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ที่เข้าร่วม ได้แก่ 1.องค์การบริหาร องค์กรการนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี 2.สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี 3.มูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์ 4.สหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สอ.มท.) 5.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต) 6.สหพันธ์นักศึกษาจังหวัดปัตตานี(Pascon) 7.สโมสรนักศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี 8.สโมสรคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี 9.สโมสรนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี 10.ชมรมมุสลิม ม.อ.ปัตตานี 11.ชมรมสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี 12.ชมรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Saudara)ม.อ.ปัตตานี13.พรรคนักศึกษากิจประชา ม.อ.ปัตตานี 14.เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Iris) 15.กลุ่ม NurulHidayah

พม่ายังเดือด กลุ่มโรฮิงญา ปะทะพุทธอีก

      กลุ่มพุทธและมุสลิมโรฮิงญาปะทะ ตายอีก 3 นานาชาติกังวลสถานการณ์ กล่าวหารัฐบาลพม่าปล่อยให้เกิดความรุนแรง
      รัฐบาลพม่าแถลงในวันจันทร์ว่า การปะทะครั้งใหม่ของกลุ่มพุทธและกลุ่มมุสลิมโรฮิงญา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย และบาดเจ็บ 5 รายเมื่อวันอาทิตย์ ที่เมืองจ๊อกตอว์ รัฐยะไข่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายและกลับเข้าสู่ความสงบแล้ว แต่พวกเขาไม่รู้ว่าทำไมความรุนแรงถึงปะทุขึ้นอีกความรุนแรงในทางตะวันตกของรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 80 รายจากทั้งสองฝั่ง ซึ่งเกิดปะทุหนักหลังหญิงชาวยะไข่คนหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่า ซึ่งทำให้กลุ่มชาวพุทธที่โกรธแค้นรุมฆ่าชาวมุสลิม 10 ราย ก่อให้เกิดข้อกังขาในการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง หลังมีข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อความไม่สงบในรัฐยะไข่ แต่ทางรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธข้อหาดังกล่าว  กลุ่มฮิวแมนไรต์วอตช์ที่นิวยอร์ก กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลพม่าเป็นผู้เปิดฉากความรุนแรงกับกลุ่มโรฮิงญา อีกทั้งล้มเหลวในการปกป้องทั้งสองฝ่าย รวมถึงปล่อยให้เกิดความรุนแรงและการรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านชาวโรฮิงญา ซึ่งองค์การสหประชาชาติมองว่า เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก เนื่องจากการถูกแบ่งแยกรังเกียจยาวนานหลายสิบปีจนกลายเป็นกลุ่มไร้สัญชาติ.

พม่ารัฐยะไข่โวย ยูเอ็นอุ้มโรฮิงยา

   ชาวยะไข่ราว 50 คน เดินทางจากรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า เพื่อชุมนุมประท้วงสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ในนครย่างกุ้ง กรณียูเอ็นช่วยเหลือชาวมุสลิมโรฮิงยา หลังเหตุปะทะรุนแรงระหว่างชาวพุทธยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงยา คร่าชีวิตกว่า 80 ราย เมื่อเดือนมิ.ย.ปีนี้ โดยผู้ประท้วงชูป้ายตำหนิยูเอ็นว่า 'หยุดสร้างความขัดแย้ง' และ 'อย่าเอาผู้ก่อการร้ายเข้ามาในดินแดนของเรา' 
    นายซอ เอ เมือง นักการเมืองตัวแทนผู้ประท้วงกล่าวว่า การชุมนุมนี้ได้รับอนุญาตจากทางการ โดยยืนกรานขอให้ยูเอ็นยุติการเหยียดหยามต่อต้านชาวยะไข่ ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองพม่า 24 พรรคได้เรียกร้องยูเอ็นถอดนายโตมัส โอเจีย ควินตานา ทูตพิเศษสิทธิมนุษยชนในพม่า เนื่องจากเข้าข้างชาว โรฮิงยามากเกินไป ขณะที่ประเทศมุสลิมต่างแสดงความกังวลถึงสถานะของชาวโรฮิงยาซึ่งเป็นคนไร้รัฐ แลไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดี